Radetzky von Radetz, Joseph, Count (1766-1858)

เคานต์โยเซฟ ราเดทซกี ฟอน ราเดทซ์ (พ.ศ. ๒๓๐๙-๒๔๐๐)

เคานต์โยเซฟ ราเดทซกี ฟอน ราเดทซ์เป็นขุนนางชาวเช็กและจอมพลแห่งออสเตรีย เขาเข้าร่วมในกองทัพออสเตรียใน ค.ศ. ๑๗๘๔ และได้ร่วมรบในสงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolutionary Wars ค.ศ. ๑๗๙๒-๑๘๐๒)*


ราเดทซกีมีชื่อเสียงโดดเด่นจากการรบในอิตาลีระหว่าง ค.ศ. ๑๗๙๖-๑๗๙๗ และจากนั้นก็ก้าวหน้าในราชการทหารจนได้รับแต่งตั้งเป็นนายพลและจอมพลตามลำดับ ราเดทซกี มีบทบาทสำคัญในยุทธการที่เมืองคูสโตซา (Battles of Custoza ๒๔-๒๕ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๔๘) และยุทธการที่เมืองโนวารา (Battle of Novara ๒๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๔๙) เพราะเขาทำให้กองทัพออสเตรียที่กำลังพ่ายแพ้กลับมีชัยชนะต่ออิตาลีและทำให้พระเจ้าชาลส์ อัลเบิร์ต (Charles Albert ค.ศ. ๑๘๓๑-๑๘๔๙)* แห่งราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย (Kingdom of Piedmont-Sardinia)* ทรงสละราชบัลลังก์ให้แก่พระราชโอรส คือ เจ้าชายวิกเตอร์ เอมมานูเอล (Victor Emmanuel) ความหวังของชาวอิตาลีที่จะเห็นราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียเป็นผู้นำในการรวมชาติก็หมดสิ้นลง

 ราเดทซกีซึ่งมีชื่อเต็มว่า โยฮันน์ โยเซฟ เวนเซิล อันทอน ฟรันซ์ คาร์ล กราฟ ราเดทซกี ฟอน ราเดทซ์ (Johann Joseph Wenzel Anton Franz Karl, Graf Radetzky von Radetz) เกิดในตระกูลขุนนางที่เมืองเทรบนิตซ์ (Trebnitz) ในแคว้นโบฮีเมีย (Bohemia) เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๗๖๖ บิดาและมารดาเสียชีวิตในขณะที่เขาเยาว์วัย ราเดทซกี จึงอยูในความอุปการะเลี้ยงดูของปูและย่า เขาเป็นเด็กฉลาดและชอบเล่นตุ๊กตาทหารทั้งมักเป็นผู้นำของเพื่อน ๆ ในการแบ่งเป็นกลุ่มเล่นสู้รบกัน เมื่อโตขึ้น เขาก็เข้าเรียนในโรงเรียนเตรียมทหารเทเรซา (Theresa) ในกรุงเวียนนาแต่เรียนได้เพียงปีเดียวโรงเรียนก็ถูกยุบลง เขาจึงไปศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยและได้เข้าประจำการในกองทัพออสเตรียใน ค.ศ. ๑๗๘๕ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๗๘๗ ราเดทชกีได้ติดยศร้อยโทแล้วเข้าประจำการในกองทหารม้าสังกัดเคานต์แห่งเลซี (Count von Lacy) เขามีโอกาสเข้าร่วมรบครั้งแรกในสงครามตุรกี ระหว่าง ค.ศ. ๑๗๘๗-๑๗๙๒ ต่อมายังได้เข้าร่วมรบในสงครามการปฏิวัติฝรั่งเศสระยะแรก แม้เขาจะแสดงความเก่งกล้าในการรบเพื่อป้องกันเนเธอร์แลนด์ของออสเตรีย (Austria Netherlands) จากการบุกของฝรั่งเศสระหว่าง ค.ศ. ๑๗๙๒-๑๗๙๕ ให้เป็นที่ประจักษ์ แต่เมื่อกองทัพออสเตรียพ่ายแพ้ต่อฝรั่งเศสในการรบที่คาบสมุทรอิตาลี ออสเตรียก็ต้องยอมปล่อยให้เนเธอร์แลนด์ของออสเตรียตกเป็นของฝรั่งเศสตามข้อตกลงในสนธิสัญญากัมโปฟอร์มีโอ (Treaty of Campo Formio ค.ศ. ๑๗๙๗)*

 ใน ค.ศ. ๑๗๙๖ ราเดทซกีเข้าร่วมรบกับกองทัพจอมพล โยฮันน์ โบลีเยอ (Johann Beaulieu) ในอิตาลีตอนเหนือเพื่อสกัดกั้นไม่ให้กองทัพของฝรั่งเศสซึ่งมีนโปเลียนโบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)* เป็นผู้บังคับบัญชาบุกข้ามแม่น้ำโป (Po) เข้ามาได้ แต่จำนวนพลของฝรั่งเศสที่มีมากกว่ารวมทั้งการหนุนช่วยจากกองทัพของปีดมอนด์ซาร์ดิเนีย ทำให้กองทัพออสเตรียพ่ายแพ้ จนต้องยอมสละดัชชีแห่งมิลานให้ฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม ก่อนล่าถอยออกจากลุ่มแม่น้ำโป โบลีเยอทิ้งกองกำลังส่วนใหญ่ไว้ที่ป้อมมันตูอา (Mantua) และให้ราเดทซกีช่วยนายพลดาโกแบร์ท ซิกมุนด์ ฟอน วูร์มเซอร์ (Dagobert Sigmund von Wurmser) ป้องกันป้อมมันตูอาไว้ แต่นโปเลียนก็ปิดล้อมมันดูอาไว้ระหว่างวันที่ ๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๙๖ ถึงวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๗๙๗ จนมีชัยชนะ หลังความปราชัยของออสเตรียที่มันตูอา ราเดทซกีได้เลื่อนยศเป็นพันโทและพันเอกตามลำดับในยุทธการที่มาเรนโก (Battle of Marengo ๑๔ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๐๐) แม้ออสเตรียจะมีชัยชนะเหนือฝรั่งเศสในระยะแรก แต่เมื่อฝรั่งเศสตั้งตัวได้และโหมบุกในเวลาต่อมาออสเตรียกลับเป็นฝ่ายปราชัย ในยุทธการครั้งนี้ราเดทซกีถูกยิง ๕ นัดแต่ก็รอดชีวิตมาได้ ใน ค.ศ. ๑๘๐๑ เขาได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์มาเรีย เทเรซา (Knight of the Order of Maria Theresa) จากความเก่งกล้าในการรบ

 ใน ค.ศ. ๑๘๐๙ พลตรี ราเดทซกีในวัย ๓๙ ปี ได้รับมอบหมายให้ไปบัญชาการกองทัพในคาบสมุทรอิตาลี โดยอยู่ในสังกัดของอาร์ชดุ๊กชาลส์แห่งออสเตรีย (Charles of Austria) เขามีชัยชนะในยุทธการที่กัลดีเอโร (Battle of Caldiero ๓๐ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๐๔) แต่ก็เป็นช่วงสั้น ๆ เพราะหลังการพักรบได้ไม่นานนัก ฝรั่งเศสรุกหนักจนกองทัพออสเตรียต้องล่าถอย ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๐๙-๑๘๑๔ ราเดทซกีมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้บัญชาการกองทัพออสเตรียในยุทธการที่เอคมืล (Battle of Eckmühl ๒๑-๒๒ เมษายน ค.ศ. ๑๘๐๙) และยุทธการที่วากราม (Battle of Wagram ๕-๖ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๐๙)* ความสามารถในการรบเหล่านี้ทำให้เขาได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าเสนาธิการทหารซึ่งมีหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์ของกองทัพออสเตรียในสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* ราเดทซกีพยายามปฏิรูปกองทัพให้ทันสมัย ปรับยุทธศาสตร์และยุทธวิธีให้เหมาะสมกับการรบ แต่งบประมาณที่จำกัดและการต่อต้านของเสนาบดีคลังทำให้เขาท้อใจและลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าเสนาธิการทหาร ใน ค.ศ. ๑๘๑๓ เขาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าเสนาธิการทหารในกองทัพของเจ้าชายคาร์ล ฟิลิปแห่งชวาร์เซนแบร์ก (Karl Philipp of Schwarzenberg) และมีส่วนร่วมในการประชุมทางทหารกับกองทัพฝ่ายสหพันธมิตรครั้งที่ ๖ ราเดทซกีร่วมวางแผนรบในยุทธการที่ไลพ์ซิก (Battle of Leipzig ๑๖-๑๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๑๓) ซึ่งเป็นยุทธการที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เพราะมีทหารของประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมรบกว่า ๖๐๐,๐๐๐ คน ฝรั่งเศสปราชัยอย่างย่อยยับในการรบครั้งนี้ และกองทัพฝ่ายสหพันธมิตรตามรุกรบอย่างไม่ลดละ ราเดทซกีนำทัพออสเตรียเข้าสู่กรุงปารีสพร้อมกับกองทัพฝ่ายสหพันธมิตรในวันที่ ๓๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๑๔ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I)* ทรงถูกบังคับให้สละราชบัลลังก์โดยไม่มีเงื่อนไขเมื่อวันที่ ๑๑ เมษายนและในวันรุ่งขึ้นก็ทรงถูกเนรเทศไปเกาะเอลบา (Elba)

 ในการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๑๕)* ราเดทซกีเป็นผู้ติดตามคนหนึ่งในคณะของจักรพรรดิฟรานซิสที่ ๑ (Francis I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๓๕)* แห่งออสเตรียที่เข้าร่วมการประชุม เขามีส่วนไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างเจ้าชายเคลเมนส์ ฟอน เมทเทอร์นิช (Klemens Fürst von Metternich)* เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศออสเตรียกับซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ (Alexander I ค.ศ. ๑๘๐๑-๑๘๒๕)* แห่งรัสเซียเกี่ยวกับปัญหาโปแลนด์ ราเดทซกียังสนับสนุนแนวความคิดเรื่องการฟื้นฟูราชวงศ์เดิมให้กลับมาปกครองอีกครั้งหนึ่งหลังการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา ราเดทซกีปลีกตัวจากสังคม เขาสมรสกับเคาน์เตสฟรันซิสคาแห่งสตราสซอลโด กราเฟนแบร์ก (Francisca von Strassoldo Grafenberg) และมีบุตรด้วยกัน ๘ คนเป็นชาย ๕ คน และหญิง ๓ คน

 ใน ค.ศ. ๑๘๒๙ ราเดทซกีซึ่งดำรงตำแหน่งพลเอกเป็นเวลา ๒๐ ปี อยู่ในบัญชีรายชื่อผู้เกษียณอายุแต่จักรพรรดิฟรานซิสที่ ๑ ไม่ทรงเห็นด้วย ในต้นทศวรรษ ๑๘๓๐ สมาคมคาร์โบนารี (Carbonari)* ได้ก่อการเคลื่อนไหวเพื่อล้มล้างอำนาจการปกครองในเนเปิลส์และรัฐสันตะปาปา ราเดทซกี ได้นำกองทัพออสเตรียเข้าปราบปรามจนสำเร็จซึ่งมีส่วนทำให้เขาได้เลื่อนยศเป็นจอมพลใน ค.ศ. ๑๘๓๖ ขณะอายุ ๗๐ ปี แม้จะมีวัยอาวุโส แต่ราเดทซกีก็ยังคงกระฉับกระเฉงและเข้าร่วมกิจกรรมในกองทัพทั้งพยายามพัฒนากองทัพให้ทันสมัย อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะปรับปรุงกองทัพของเขาไม่ประสบความสำเร็จ เพราะรัฐบาลไม่เห็นด้วยและปฏิเสธที่จะให้งบประมาณในการดำเนินงาน เมื่อเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)* ในยุโรป ชนกลุ่มน้อยในจักรวรรดิออสเตรียก่อการเคลื่อนไหวต่อต้านราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Hapsburg)* ราเดทซกีมีบทบาทสำคัญในการปราบปรามฝ่ายกบฏในคาบสมุทรอิตาลี และสามารถรบชนะกองทัพปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียในยุทธการที่คูสโตซา ทำให้พระเจ้าชาลส์ อัลเบิร์ตทรงยอมสงบศึกกับออสเตรีย

 อย่างไรก็ตาม ในต้น ค.ศ. ๑๘๔๙ เมื่อเกิดความวุ่นวายในรัฐฟลอเรนซ์และเนเปิลส์ ปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียก็ประกาศสงครามกับออสเตรียอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็พ่ายแพ้อย่างยับเยินในยุทธการที่เมืองโนวาราในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๘๔๙ ซึ่งมีผลให้พระเจ้าชาลส์ อัลเบิร์ตทรงสละราชบัลลังก์ให้แก่เจ้าชายวิกเตอร์ เอมมานูเอล พระราชโอรส ในขณะที่ออสเตรียยังคงสามารถรักษาอิทธิพลของตนในอิตาลีไว้ได้ ต่อมา ราเดทซกี ยังสามารถยึดคืนวินีเชีย (Venetia) หรือเวนิสซึ่งถูกฝ่ายชาตินิยมยึดครองระหว่างเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๔๘ ถึงเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๘๔๙ ได้ชัยชนะดังกล่าวทำให้เขาได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Knight of the Order of the Golden Fleece นอกจากนี้ ชัยชนะของกองทัพออสเตรียในการรบที่คูสโตซาและโนวารายังเป็นแรงบันดาลใจให้โยฮันน์ สเตราส์ (Johann Strauss) นักประพันธ์เพลงที่มีชื่อเสียงชาวออสเตรียแต่งเพลง “Radetzky March” เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา เป็นเพลงมาร์ชทหารที่มีทำนองสนุกสนานและร่าเริงและมักใช้บรรเลงในงานชุมนุมของทหาร ทั้งต่อมานิยมบรรเลงในงานเทศกาลดนตรีคลาสสิกประจำปีที่กรุงเวียนนารวมทั้งบรรเลงเป็นเพลงสุดท้ายในช่วงการแสดงคอนเสิร์ตวันปีใหม่ของวงเวียนนาฟิลฮาร์โมนิก (Vienna Philharmonic’s New Year’s Concert) ด้วย

 หลังการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ ราเดทชกีได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแห่งลอมบาร์ดีและวินีเชีย (ค.ศ. ๑๘๔๙-๑๘๕๗) เขาเป็นผู้สำเร็จราชการคนแรกและคนเดียวที่ไม่ใช่สมาชิกของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก เขาบริหารปกครองด้วยความเป็นธรรมและพยายามสร้างความสามัคคีในหมู่ชาวอิตาลี ใต้การปกครอง ในช่วง ๒-๓ ปีสุดท้ายของชีวิต สุขภาพของเขาทรุดโทรมและถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ ๕ มกราคม ค.ศ. ๑๘๕๘ ในขณะยังคงทำงานอยู่ด้วยวัย ๙๒ ปี ศพของราเดทซกีบรรจุอยู่ที่สุสานเฮลเดนแบร์ก (Heldenberg) ในออสเตรียตอนใต้.



คำตั้ง
Radetzky von Radetz, Joseph, Count
คำเทียบ
เคานต์โยเซฟ ราเดทซกี ฟอน ราเดทซ์
คำสำคัญ
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘
- การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา
- เนเธอร์แลนด์ของออสเตรีย
- โบลีเยอ, จอมพล โยฮันน์
- โบฮีเมีย
- เมทเทอร์นิช, เจ้าชายเคลเมนส์ ฟอน
- ยุทธการที่กัลดีเอโร
- ยุทธการที่มาเรนโก
- ยุทธการที่เมืองคูสโตซา
- ยุทธการที่เมืองโนวารา
- ยุทธการที่ไลพ์ซิก
- ยุทธการที่วากราม
- ยุทธการที่เอคมืล
- รัฐสันตะปาปา
- ราเดทซ์, เคานต์โยเซฟ ราเดทซกี ฟอน
- วินีเชีย
- วูร์มเซอร์, ดาโกแบร์ท ซิกมุนด์ ฟอน
- สงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส
- สงครามนโปเลียน
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สนธิสัญญากัมโปฟอร์มีโอ
- สมาคมคาร์โบนารี
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1766-1858
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๓๐๙-๒๔๐๐
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ปราณี คิริจันทพันธ์
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-